โครงการสอน
รหัสวิชา PC54505 3(2-2-5)วิชานวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา
Innovation, Technology and Information in Educationสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงภาคเรียน1/2555 _________________________________________________________________
คำอธิบายรายวิชา ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี นวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ การวิเคราะห์ ปัญหาที่เกิดจากการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศ แหล่งเรียนรู้และเครือข่ายการ เรียนรู้ การสร้าง การออกแบบ การนำไปใช้ การประเมินผล การปรับปรุงนวัตกรรม สามารถเลือกใช้ ออกแบบ สร้าง ปรับปรุงนวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศสำหรับการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาที่จะรับผิดชอบสอนในอนาคตได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับระดับการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี สามารถแสวงหาแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนวัตถุประสงค์ เมื่อผู้เรียนศึกษาเนื้อหาบทเรียนจบตามหลักสูตรแล้วจะมีพฤติกรรมหรือความสามารถดังนี้ 1. อธิบายความหมายของนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศได้ 2. ยกตัวอย่างนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ 3. ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศได้ 4. บอกถึงปัญหาที่เกิดจากการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศได้ 5. บอกความหมายและประเภทแหล่งเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้ได้ 6. อธิบายพื้นฐานการออกแบบการเรียนการสอนได้ 7. อธิบายรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ 8. ยกตัวอย่างรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ 9. อธิบายวิธีการเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมได้ 10. เสนอแนวทางในการสร้าง ปรับปรุงนวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศสำหรับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาได้อย่างน้อย 1 รายวิชา 11. สามารถแสวงหาแหล่งการเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมได้ 12. ยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศได้อย่างน้อย 3 เรื่องรูปแบบการเรียนการสอน เป็นการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online Learning) กับการเรียนการสอนแบบเผชิญหน้าในชั้นเรียนปกติ(Face-to-Face or Traditional Learning)วิธีสอน ใช้วิธีสอนแบบเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning) และวิธีสอนแบบร่วมมือ ( Cooperative Learning)เนื้อหาบทเรียนหน่วยการเรียนที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศหน่วยการเรียนที่ 2 หลักการ แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารมสนเทศหน่วยการเรียนที่ 3 การสื่อสารเพื่อการเรียนการสอนหน่วยการเรียนที่ 4 จิตวิทยาการเรียนการสอนหน่วยการเรียนที่ 5 การออกแบบการเรียนการสอนหน่วยการเรียนที่ 6 นวัตกรรมการเรียนการสอนหน่วยการเรียนที่ 7 คอมพิวเตอร์หน่วยการเรียนที่ 8 เครือข่ายอินเตอร์เน็ตหน่วยการเรียนที่ 9 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเรียนการสอนหน่วยการเรียนที่ 10 แนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศกับการศึกษาหรือการเรียนการสอน

หน่วยที่4


จิตวิทยา

จิตวิทยา คือวิชาว่าด้วยจิต เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยปรากฎการณ์ พฤติกรรม และกระบวนการของจิต จิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Psychology) เป็นวิชาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์แขนงต่าง ๆ ได้แทบทุกศาสตร์ และเป็นที่ยอมรับว่ามีความสำคัญและมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านส่วนตัวเอง ด้านครอบครัว ด้านเพื่อนร่วมงาน และด้านการประกอบอาชีพร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม เป็นต้น

ความหมายของจิตวิทยา

คำว่า จิตวิทยาตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Psychology” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ๒ คำ คือคำว่า Psyche กับ Logos

คำว่า Psyche หมายถึงวิญญาณ (Soul) กับคำว่า Logos หมายถึงวิชาการและการศึกษา (Study)

ดังนั้น เมื่อทั้ง ๒ คำรวมกันจึงเป็นคำศัพท์ว่า Psychology มีความหมายว่าด้วยวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ สมัยกรีกโบราณซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการศึกษาจิตวิทยา นักปราชญ์ในสมัยนั้นจึงได้พยายามศึกษาค้นคว้าและหาคำตอบว่าวิญญาณ มีความสำคัญและมีอิทธิพลอย่างไรต่อการกระทำของมนุษย์ เป็นการศึกษาที่ไม่มีตัวตน ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้

สรุปได้ว่า จิตวิทยา คือ การศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมของสิ่งที่มีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์และสัตว์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้าใจ สามารถอธิบาย สามารถทำนาย กำหนดควบคุมพฤติกรรมและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้

การเรียนการสอน คือ การพยายามสร้างความเข้าใจทักษะ ความรู้ ความคิดต่างๆ ร่วมกัน ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนความสำเร็จของการเรียนการสอน พิจารณาได้จากพฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไปตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้แต่ต้นตามลักษณะการเรียนรู้นั้นๆ

จิตวิทยากับการเรียนการสอน

จิตวิทยาการเรียนการสอนเป็นศาสตร์อันมุ่งศึกษาการเรียนรู้และพฤติกรรมของผู้เรียนในสถานการณ์การเรียนการสอนพร้อมทั้งหาวิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน

จิตวิทยาการศึกษาเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน ในสภาพการเรียนการสอนหรือในชั้นเรียน เพื่อค้นคิดทฤษฎีและหลักการที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ

จิตวิทยาการศึกษามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา การสร้างหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล นักการศึกษาและครูจำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาการศึกษา เพื่อจะได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนเหมือนกับวิศวกรที่จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยทั่วไปแล้ว เนื้อหาของจิตวิทยาการศึกษาที่เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับครูและนักการศึกษาประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้

1. ความสำคัญของวัตถุประสงค์ของการศึกษาและบทเรียน นักจิตวิทยาการศึกษาได้เน้นความสำคัญของความแจ่มแจ้งของการระบุวัตถุประสงค์ของการศึกษา บทเรียน ตลอดจนถึงหน่วยการเรียน เพราะวัตถุประสงค์จะเป็นตัวกำหนดการจัดการเรียนการสอน

2. ทฤษฎีพัฒนาการ และทฤษฎีบุคลิกภาพ เป็นเรื่องที่นักการศึกษาและครูจะต้องมีความรู้ เพราะ จะช่วยให้เข้าใจเอกลักษณ์ของผู้เรียนในวัยต่างๆ โดยเฉพาะวัยอนุบาล วัยเด็ก และวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่กำลังศึกษาในโรงเรียน

3. ความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่ม นอกจากมีความเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ แล้ว นักการศึกษาและครูจะต้องเรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มทางด้านระดับเชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ เพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนักจิตวิทยาได้คิดวิธีการวิจัยที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเลือกวิธีสอน และในการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม

4. ทฤษฎีการเรียนรู้ นักจิตวิทยาที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ นอกจากจะสนใจว่าทฤษฎีการเรียนรู้จะช่วยนักเรียนให้เรียนรู้และจดจำอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรแล้ว ยังสนใจองค์ประกอบเกี่ยวกับตัวของ ผู้เรียน เช่น แรงจูงใจว่ามีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้อย่างไร ความรู้เหล่านี้ก็มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน

5. ทฤษฎีการสอนและเทคโนโลยีทางการศึกษา นักจิตวิทยาการศึกษาได้เป็นผู้นำในการบุกเบิกตั้งทฤษฎีการสอน ซึ่งมีความสำคัญและมีประโยชน์เท่าเทียมกับทฤษฎีการเรียนรู้และพัฒนาการในการช่วยนักการศึกษาและครูเกี่ยวกับการเรียนการสอน สำหรับเทคโนโลยีในการสอนที่จะช่วยครูได้มากก็คือ คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน

6. หลักการสอนและวิธีสอน นักจิตวิทยาการศึกษาได้เสนอหลักการสอนและวิธีการสอนตามทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แต่ละท่านยึดถือ เช่น หลักการสอนและวิธีสอนตามทัศนะนักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม ปัญญานิยม และมานุษยนิยม

7. หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้จะช่วยให้นักการศึกษา และครูทราบว่า การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือผู้เรียนได้สัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์เฉพาะของ แต่ละวิชาหรือหน่วยเรียนหรือไม่ เพราะถ้าผู้เรียนมีสัมฤทธิผลสูง ก็จะเป็นผลสะท้อนว่าโปรแกรมการศึกษามีประสิทธิภาพ

8. การสร้างบรรยากาศของห้องเรียน เพื่อเอื้อการเรียนรู้และช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพของนักเรียน

ความสำคัญของจิตวิทยาการเรียนการสอน

ทำให้รู้จักลักษณะนิสัยของผู้เรียน

ทำให้เข้าใจพัฒนาการบุคลิกภาพบางอย่างของผู้เรียน

ทำให้ครูเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล

ทำให้ครูทราบว่ามีองค์ประกอบใดบ้างที่มีผลกระทบต่อสัมฤทธิ์ทางการเรียนเช่น แรงจูงใจ ความคาดหวัง เชาวน์ปัญญา ทัศนคติ ฯลฯ

- ทำให้ครูทราบทฤษฎี หลักการเรียนรู้ รวมทั้งหลักการสอนและวิธีการสอน

                            อังคณา ไพรเพ็ชศักดิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น